ถ้าถามว่า ในปัจจุบัน บริษัทส่วนใหญ่ใช้มาตรฐานอะไรในการประเมินและควบคุมการทำงานของทุกคนในองค์กร เชื่อว่าร้อยละ 90 คงตอบว่า KPI เป็นแน่แท้ แต่ถ้าถามต่อไปว่า แล้วในองค์กรคุณ ได้นำ KPI ที่ตั้งเอาไว้ มาช่วยพัฒนาให้องค์กรก้าวไปข้างหน้าหรือไม่ หรือ KPI ช่วยให้พนักงานของคุณรู้สึกมีส่วนร่วมกับองค์กรอย่างไรบ้าง คงเป็นคำตอบที่ตอบได้ค่อนข้างยาก ดังนั้น ด้วยคำถามเหล่านี้แหล่ะ จึงได้เกิดแนวคิดที่เรียกว่า OKRs ขึ้นมา เพื่อช่วยให้องค์กรสามารถปรับตัวและให้ทุกคนในองค์กรมีส่วนร่วมในการพัฒนาและก้าวไปข้างหน้ามากขึ้น
เจ้า OKRs นี้เนี่ย ไม่ใช้พึ่งเกิดขึ้นเมื่อปีสองปีมานี้ แต่ได้ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในบริษัท Google ตั้งแต่ปี 1999 หรือก็คือ 20 กว่าปีที่แล้ว ตั้งแต่ยุคที่ Google มีพนักงานอยู่ประมาณ 40 คน ทำให้บริษัทเติบโตมาได้อย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันที่มีพนักงานกว่า 60,000 คน!!
เอาละ เดี๋ยวเรามาดูคอนเซ็ปคร่าวๆของ OKRs กันก่อนดีกว่า
OKRs ประกอบด้วย 2 ส่วน ส่วนแรก O: Objective ซึ่งก็คือ วัตถุประสงค์หลักของเรา บอกว่าเรามีจุดมุ่งหมายในการทำงานของเราคืออะไร และส่วนที่สองคือ KRs: Key Results จะเป็นตัวผลลัพธ์หลัก ซึ่งจะเป็นตัวระบุว่าเราได้บรรลุตามจุดมุ่งหมายที่เราตั้งเอาไว้หรือไม่
แล้ว OKRs นี้ มีข้อดียังไง ทำไมถึงตอบโจทย์โลกยุค 4.0 หล่ะ!?
- OKRs จะมีการวัดผล และปรับเปลี่ยนหรือปรับปรุงทุก 3 เดือน (รายไตรมาส) ด้วยโลกธุรกิจในปัจจุบันซึ่งเป็นยุคดิจิตอล สภาพเศรษฐกิจหรือความต้องการของลูกค้ามีการปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วมาก หากเรามานั่งดูและสรุปผลกันเป็นรายปีแบบ KPI จะทำให้องค์กรปรับตัวได้ช้า และไม่สามารถแข่งขันกับสภาพตลาดในปัจจุบันได้
- ไม่ยึดติดกับข้อจำกัดหรือหน้าที่ในแบบเดิมๆ OKRs จะเป็นสิ่งที่พนักงานหรือหน่วยงานแต่ละหน่วยจะทำการกำหนดกันขึ้นมาเอง โดยดูจากหน้าที่ความรับผิดชอบของตัวเอง และแนวทาง OKRs ของบริษัทหรือของหัวหน้า และจากการที่พนักงานแต่ละคนได้รับอิสระในการตั้งเป้าหมายของตนเอง จะทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆเกิดขึ้น ก่อให้เกิดความคิดที่อยากจะพัฒนามากขึ้น
- รู้สึกมีความกระตือรือร้นและมีเป้าหมายในการทำงานมากขึ้น ด้วยระบบ KPI แบบเดิมๆ จะมีเพียงการบอกว่าตนเองต้องทำอะไร ให้ได้มาตรฐานคะแนนเท่าไหร่ แต่ไม่บอกว่า พนักงานแต่ละคนกำลังทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร แต่ด้วย OKRs จะมีการระบุวัตถุประสงค์ จึงจะทำให้พนักงานรู้ว่าตนกำลังจะทำสิ่งเหล่านี้ไปเพื่ออะไร และจะได้อะไรเป็นผลตอบแทนกลับมา
จากข้อดีของ OKRs ทั้ง 3 ข้อนี้ ทุกท่านมีความคิดเห็นกันอย่างไรบ้าง คิดว่าการนำ OKRs มาใช้ จะตอบโจทย์กับองค์กรของท่านและยุคสมัยในปัจจุบันหรือไม่อย่างไร สำหรับแนวทางการนำ OKRs มาประยุกต์ใช้ในองค์กรได้อย่างไร เดี๋ยวเรามาพบกันใหม่ในบทความหน้า